วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Footloose จักรยานพลังงานไฟฟ้าไร้โซ



      ฟุตลูส (Footloose) เป็นจักรยานพลังงานไฟฟ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยบริษัท มันโดะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศเกาหลี ฟุตลูส เป็นจักรยานที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เนื่องจากเป็นจักรยานที่ไม่มีเกียร์สำหรับทำหน้าที่เปลี่ยนอัตราการทดรอบ และโซ่สำหรับช่วยให้กลไกของล้อจักรยานหมุน เป็นจักรยานที่มีน้ำหนักเบา สามารถพับเก็บได้ เหมาะสำหรับใช้เป็นยานพาหนะสัญจรไปมาในเมืองใหญ่ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางต่อด้วยรถไฟใต้ดินได้

      ทั้งนี้ ฟุตลูส เป็นจักรยานที่ใช้แรงถีบในการชาร์จแบตเตอรี่ เมื่อผู้ขี่ปรับโหมดมาปั่นแทนการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ พลังงานที่เกิดการถีบจะถูกส่งไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ ไดชาร์จ (Alternator) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อให้มอเตอร์ทำงาน ทั้งนี้ หากชาร์จแบตเตอรี่จนเต็ม ก็จะสามารถแล่นไปได้ไกลราว 20 ไมล์ (ประมาณ 32 กิโลเมตร) โดยบริษัทผู้ผลิตวางแผนวางจำหน่ายจักรยานไฟฟ้าในตลาดยุโรปในปีหน้า

ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีแดนมะกันคิดค้นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับพลังงานสำหรับสมาร์ทโฟน



      ปัจจุบันบริษัททางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ พยายามคิดค้นแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้มีศักยภาพมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค อย่างเช่นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีจากรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการพัฒนาคิดค้นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับพลังงานซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้หลากหลายประเภท อาทิ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงาน การควบคุมการใช้พลังงานภายในบ้าน การให้ข้อมูลด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เป็นต้น

     หนึ่งในประสิทธิภาพการทำงานที่นาสนใจคือ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าพวกเขากำลังใช้พลังงานไปมากเท่าไรในบ้านของตนเอง ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับบ้านหลังอื่นที่มีการใช้พลังงานใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังเป็นตัวเลือก ในการชำระค่าบริการด้านพลังงานออนไลน์ และเตือนเมื่อครบกำหนดชำระเงิน ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้งานให้มากขึ้น
โดยผู้ประกอบการเชื่อว่าแอพพลิเคชั่นของพวกเขาเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ในการใช้งานให้กับผู้บริโภค

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

นักประดิษฐ์เมืองผู้ดีสร้างเครื่องต้มไข่ไม่ต้องใช้น้ำ


          การต้มไข่ในหม้อต้มน้ำแบบดั้งเดิมนั้นต้องใช้พลังงานหลายทาง ทั้งพลังงานความร้อนและพลังงานน้ำ หากมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้แค่พลังงานความร้อนเพียงอย่างเดียวในการต้มไข่ คงช่วยลดการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี

          ขณะนี้นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษได้สร้างเครื่องต้มไข่ ที่เรียกว่า “Eggxactly” ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาเครื่องดังกล่าวนานกว่า 7 ปี เครื่อง Eggxactly ทำงานโดยใช้พลังงานความร้อนในการต้มไข่เพียงอย่างเดียว ตัวเครื่องประกอบด้วยซิลิโคนนำความร้อนที่ติดอยู่ด้านข้าง เพื่อใช้ในการถ่ายโอนความร้อนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากเครื่องนี้สามารถยืดหยุ่นได้ตามลักษณะของไข่ที่ต้องการจะต้ม

          วิธีใช้เครื่องดังกล่าว เพียงแค่วางไข่ลงในตำแหน่งของซิลิโคนยืดหยุ่นนำความร้อน ปิดฝา เสียบปลั๊ก แล้วกดปุ่มสตาร์ท เมื่อไข่สุกจะมีสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้งานหยุดการทำงาน และนำไข่ที่ได้มารับประทานได้ตามต้องการ

          เครื่องต้มไข่ “Eggxactly” เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถต้มไข่ได้ พร้อม ๆ กับลดการใช้พลังงานน้ำได้ทางหนึ่งด้วย การต้มไข่เป็นวิธีการหนึ่งในการทำอาหารที่พบเห็นได้ทั่วไป หากมีอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ ก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย

เวอจิเนียเทค คิดค้นอุปกรณ์ชาร์ตแบตเตอร์รี่จากหลักเพียโซอีเลคทริค




        ทีมนักวิทยาศาสตร์สถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หรือ เวอร์จิเนียเทค ได้พัฒนาอุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่จากหลักพลังงานจลน์

ทั้งนี้ อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่ดังกล่าวทำงานตามหลักเพียโซอีเลคทริค (Piezoelectricity) หรือ การผลิตไฟฟ้าจากการกดดันทางกลไกที่มีต่อผลึกที่ไม่นำไฟฟ้า ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการสัมผัสหน้าจอ อุปกรณ์ชาร์จที่มาพร้อมกับโทรศัพท์จะชาร์จพลังงานสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อุปกรณ์ชาร์จที่อาศัยหลักเพียโซอีเลดทริคดังกล่าวสามารถติดตั้งไว้ข้างล่างแผงปุ่มกดหรือหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งอุปกรณ์ชาร์จจะเปลี่ยนการสั่นสะเทือนเชิงกลศาสตร์ (Mechanical vibration) ให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า

โคมไฟหนังสือ



          นักออกแบบจากสหรัฐอเมริกา มีความคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์โคมไฟที่มีรูปลักษณ์เป็นหนังสือ ชื่อว่า “Lumio” เป็นหนังสือขนาดกะทัดรัด สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก เมื่อกางออกจะกลายเป็นโคมไฟให้แสงสว่าง นักออกแบบต้องการสร้างโคมไฟนี้ให้มีขนาดเล็ก คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

          “Lumio” เป็นได้ทั้งโคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟติดผนัง หรือโคมไฟสำหรับอ่านหนังสือ วิธีใช้ก็แสนง่าย เพียงแค่เปิดหนังสือออกเมื่อต้องการใช้ และพับปิดลงเมื่อเลิกการทำงาน ที่น่าสนใจคือไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟให้ยุ่งยาก เพราะโคมไฟทำงานด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ให้พลังงานได้นาน 8 ชั่วโมง โดยไม่ต้องชาร์จใหม่

        นักออกแบบยังไม่ได้กำหนดราคาของโคมไฟ “Lumio” แต่คาดว่าจะเริ่มออกวางจำหน่ายในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยี (Technology) หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆและหาทางนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ เทคโนโลยีจึงเป็นคำที่มีความหมายกว้าง

สารสนเทศ(Information) หมายถึงข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนตั้งแต่เกิดมาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น เรียนรู้สภาพสังคมความเป็นอยู่ กฎเกณฑ์และวิชาการ เป็นต้น ลองจินตนาการดูว่าภายในสมองของเราเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เราคงตอบไม่ได้ แต่สามารถเรียกเอาข้อมูลมาใช้ได้ ข้อมูลที่เก็บไว้ในสมอง เป็นสิ่งที่สะสมกันมาเป็นเวลานาน ความรอบรู้ของแต่ละคนจึงขึ้นอยู่กับการเรียกใช้ข้อมูลนั้น ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าความรู้เกิดจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทุกวันนี้มีข้อมูลอยู่รอบตัวเรามาก ข้อมูลเหล่านี้มาจากสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การสื่อสารระหว่างบุคคล จึงมีผู้กล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคของสารสนเทศ

สรุป เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) หมายถึง เทคโนโลยีที่ใช้จัดการ สารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การรวบรวม การจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล การพิมพ์ การสร้างรายงาน การสื่อสารข้อมูล ฯลฯ เทคโนโลยีสารสนเทศยังรวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดระบบการให้บริการ การใช้ และการดูแลข้อมูลด้วย

ความหมายของเทคโนโลยี


       คำว่า เทคโนโลยี ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Technology" ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า "Technologia" แปลว่า การกระทำที่มีระบบ อย่างไรก็ตามคำว่า เทคโนโลยี มักนิยมใช้ควบคู่กับคำว่า วิทยาศาสตร์ โดยเรียกรวม ๆ ว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ซึ่งพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน (2539 : 406) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยี คือ วิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังมีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้หลากหลาย ดังนี้ คือ

        ผดุงยศ ดวงมาลา (2523 : 16) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีว่าปัจจุบันมีความหมายกว้างกว่ารากศัพท์เดิม คือ หมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ทาง อุตสาหกรรม ถ้าในแง่ของความรู้ เทคโนโลยีจะหมายถึง ความรู้หรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตในอุตสาหกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรืออาจสรุปว่า เทคโนโลยี คือ ความรู้ที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์เอง ทั้งในแง่ความเป็นอยู่และการควบคุมสิ่งแวดล้อม

        สิปปนนท์ เกตุทัต (ม.ป.ป. 81) อธิบายว่า เทคโนโลยี คือ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ มาผสมผสานประยุกต์ เพื่อสนองเป้าหมายเฉพาะตามความต้องการของมนุษย์ด้วยการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตและจำหน่ายให้ต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการ เทคโนโลยีจึงมักจะมีคุณประโยชน์และเหมาะสมเฉพาะเวลาและสถานที่ และหากเทคโนโลยีนั้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีนั้นจะเกื้อกูลเป็นประโยชน์ทั้งต่อบุคคลและส่วนรวม หากไม่สอดคล้องเทคโนโลยี นั้น ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาตามมามหาศาล

        ธรรมนูญ โรจนะบุรานนท์ (2531 : 170) กล่าวว่า เทคโนโลยี คือ ความรู้วิชาการรวมกับความรู้วิธีการ และความชำนาญที่สามารถนำไปปฏิบัติภารกิจให้มีประสิทธิภาพสูง โดยปกติเทคโนโลยีนั้นมีความรู้วิทยาศาสตร์รวมอยู่ด้วย นั้นคือวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ เทคโนโลยีเป็นการนำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ จึงมักนิยมใช้สองคำด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเน้นให้เข้าใจว่า ทั้งสองอย่างนี้ต้องควบคู่กันไปจึงจะมีประสิทธิภาพสูง

        ชำนาญ เชาวกีรติพงศ์ (2534 : 5) ได้ให้ความหมายสั้น ๆ ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิชาที่ว่าด้วยการประกอบวัตถุเป็นอุตสาหกรรม หรือวิชาช่างอุตสาหกรรม หรือการนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ในทางปฏิบัติจากการที่มีผู้ให้ความหมายของเทคโนโลยีไว้หลากหลาย สรุปได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง วิชาที่นำเอาวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ตามความต้องการของมนุษย์ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีเป็นภาษาง่าย ๆ ว่า หมายถึง การรู้จักนำมาทำให้เป็นประโยชน์นั่นเอง (เย็นใจ เลาหวณิช. 2530 : 67)

     สรุปความหมายเทคโนโลยี
    การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ มาผสมผสานประยุกต์ เพื่อสนองเป้าหมายเฉพาะตามความต้องการของมนุษย์ ด้วยการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตและจำหน่ายให้ต่อเนื่องตลอดทั้งกระบวนการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความหมายของนวัตกรรม

        
        นวัตกรรม (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน  แปลว่า  ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา  ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ  การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่  เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  หรือก็คือ  การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น  โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง  (Changs)  ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส  ( Opportunity)  และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

         ทอมัส ฮิวช์ (Thomas Hughes) ได้ให้ความหมายของ นวัตกรรมว่า เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว เริ่มตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของ โครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (boonpan edt01.htm)

         มอร์ตัน (Morton,J.A.) ให้ความหมาย นวัตกรรมว่าเป็นการทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง(Renewal) ซึ่งหมายถึง การปรับปรุงสิ่งเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงาน หรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรม ไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการ ปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนา (boonpan edt01.htm)

         ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 14) ได้ให้ความหมาย นวัตกรรมไว้ว่าหมายถึง วิธีการปฎิบัติใหม่ๆ ที่แปลกไปจากเดิมโดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการทดลอง พัฒนาจนเป็นที่เชื่อถือได้แล้วว่าได้ผลดีในทางปฎิบัติ ทำให้ระบบก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

         จรูญ วงศ์สายัณห์ (2520 : 37) ได้กล่าวถึงความหมายของ นวัตกรรมไว้ว่า แม้ในภาษาอังกฤษเอง ความหมายก็ต่างกันเป็น 2 ระดับ โดยทั่วไป นวัตกรรม หมายถึง ความพยายามใด ๆ จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ มากน้อยเพียงใดก็ตามที่เป็นไปเพื่อจะนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมแล้ว กับอีกระดับหนึ่งซึ่งวงการวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม ได้พยายามศึกษาถึงที่มา ลักษณะ กรรมวิธี และผลกระทบที่มีอยู่ต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง คำว่า นวัตกรรม มักจะหมายถึง สิ่งที่ได้นำความเปลี่ยนแปลงใหม่เข้ามาใช้ได้ผลสำเร็จและแผ่กว้างออกไป จนกลายเป็นการปฏิบัติอย่างธรรมดาสามัญ (บุญเกื้อ ควรหาเวช , 2543)

         สรุปความหมายของนวัตกรรม
        การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อน หรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น เมื่อนำ นวัตกรรมมาใช้จะช่วยให้การทำงานนั้นได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วย ประหยัดเวลาและแรงงานได้ด้วย

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21



การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21


                 จากการศึกษาแผนภาพการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21เปรียบเทียบกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 แตกต่างกันมากเพราะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นให้คนลดการเรียนรู้ทางด้านวิชาการลงแต่ไปเพิ่มการพัฒนาทักษะต่างๆ มากขึ้น ทั้งด้านทักษะในการใช้ชีวิต ทักษะการคิด และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้(ICT)ซึ่งสอดคล้องและสัมพันธ์กับสมรรถนะสำคัญของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 จำนวน 5 ด้าน 
         1. ความสามารถในการสื่อสาร คือความรู้สึกและทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อัน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรอง เพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสาร ด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับ ICT Literacy
         2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคม ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับ Learning Thinking Skills
        3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ Life skill
        4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น สอดคล้องกับ Life skill
       5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือกและใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม สอดคล้องกับ ICT Literacy
ดังนั้นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21(21st Century Content)เป็นการเรียนรู้หลายทาง หรือการบูรณาการความรู้ต่างๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับผู้สอน สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ได้ โดยเฉพาะการใช้ ICT มาใช้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และการเรียนรู้การใช้ICTควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะชีวิตและอื่นๆ ส่วน core subjects นั้นเป็นส่วนของเนื้อหาที่นำมาใช้ในการประกอบอาชีพ จะเป็นส่วนเสริมของสมรรถนะทั้ง 5 ด้านเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการศึกษาขั้นสูงต่อไป ดังนั้นวิธีการเรียนรู้จึงเปลี่ยนจากท่องจำเป็นการปฏิบัติและการบูรณาการหลายๆศาสตร์เข้าด้วยกัน